การจัดการกับความโกรธ


การจัดการกับความโกรธ (Anger management)

 
“ความโกรธ เป็นเหมือนไฟเผาใจเรา”

     โกรธ ! ! ! ! ฉันไม่ชอบ.. ฉันไม่พอใจ.. ฉันโมโห.. ฉันเกลียด..

      เชื่อว่าทุกคนเคยมีอารมณ์แบบนี้ผ่านเข้ามาในชีวิต อารมณ์ โกรธ เป็นอารมณ์พื้นฐานอย่างหนึ่ง(ของมนุษย์และสัตว์ นอกจาก อารมณ์รัก ชอบ เจ็บ เฉย) แต่ที่ต่างกัน คือการแสดงออกของความโกรธ ซึ่งอาจจะออกมาเป็นความก้าวร้าว ด่า ทำร้ายทั้งคำพูดหรือ การกระทำ หรืออาจเก็บกดไว้ กลายเป็นหนามทิ่งแทงใจ เจ็บใจ เศร้าใจ เหมือนตกเป็นเหยื่อ ไร้ทางสู้

      ความโกรธเกิดจากอะไร ความโกรธเหมือนเป็นสัญชาตญาณการป้องกัน ตัวอย่างหนึ่งของสิ่งมีชีวิตเพื่อป้องกันอันตราย จากสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกถูกคุกคาม ไม่ปลอดภัย ให้ร่างกายเตรียมพร้อมที่จะ สู้ หรือ หนี

 

      เกิดอะไรขึ้นกับร่างกายบ้างเมื่อโกรธ   ความโกรธเป็นภาวะความ เครียดฉับพลันอย่างหนึ่ง เมื่อความโกรธเกิดขึ้นร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนความเครียดออกมาคือ คอร์ติซอล สารตัวนี้จะมีผลกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติ (Sympathetic nervous system) ทำให้เส้นเลือดหดตัว หัวใจบีบตัวแรงและเร็วขึ้น เหมือนที่มีคนกล่าวว่า “โกรธจนเลือดขึ้นหน้า”กล้ามเนื้อบีบตัวแรง หายใจเร็วแรงขึ้น สมองส่วนหน้าด้านการใช้เหตุผล วางแผนไม่ทำงาน ขาดความยับยั้งชั่งใจ

      “คนมักโกรธเพิ่มโอกาสการเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด ปวดศีรษะไมเกรน โรคกระเพาะอาหาร เพิ่มสารก่อมะเร็งในร่างกาย โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง”
 
                                                                  
     พฤติกรรมที่แสดงความโกรธแสดงออกมาต่างกันเพราะ

     กรรมพันธุ์: มีการศึกษาที่ระบุยีนที่ทำให้แสดงออกความโกรธออกมาเป็นความก้าวร้าวรุนแรง(ในบางคน)

      เพศ: เพศชายมีฮอร์โมนเพศที่เรียกว่า เทสโทสเทอโรน มากกว่าเพศหญิงซึ่งทำให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าว(Aggression) มากกว่า ส่วนในผู้หญิงมักแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมเก็บกด โทษตัวเอง ทำร้ายตัวเองแทน

      อายุ / สติปัญญา: ในเด็ก หรือในคนที่มีเชาน์ปัญญาบกพร่อง สมองและวุฒิภาวะทางอารมณ์ยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่ เมื่อเกิดเรื่องขัดใจก็จะแสดงออกมาตามสัญชาตญาณดิบ เพื่อให้เกิดการตอบสนองความต้องการของตนทันที เช่น กรีดร้อง โวยวาย ทุบตีตัวเอง ในเด็กโตอาจแสดงออกมาเป็นอาการทางกาย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง แน่นหน้าอก หรือบางคนก็ดื้อเงียบ ต่อต้าน ไม่ทำตามคำสั่ง ไม่กินข้าว ไม่ไปโรงเรียน

      การเลี้ยงดู / การเรียนรู้ / บุคลิกภาพ: การแสดงออกของพฤติกรรมเป็นผลจากการเลียนแบบสังคมรอบตัว โดยเฉพาะในครอบครัว เช่น การใช้คำหยาบ ทำร้ายร่างกายกัน การเรียนรู้กฏ กติกา เงื่อนไข กาลเทศะของสังคม ความนับถือตนเอง การให้เกียรติคนอื่น การเชื่อในคุณค่าของตนเองและผู้อื่น ถ้าพัฒนาไม่ดีทำให้บุคลิกภาพผิดปกติ เช่น แปรปรวน ต่อต้านสังคม ชอบแข่งขัน เป็นต้น

     โรคทางกายบางชนิด: โรคลมชัก โรคสมองเสื่อม สมองขาดเลือด/ได้รับความกระทบกระเทือน ที่มีรอยโรคบริเวณสมองส่วนหน้า ทำให้เกิดอาการแสดงคือ ขาดความยับยั้งชั่งใจ หุนหันพลันแล่น ควบคุมตัวเองไม่ได้ หรือ อาจเป็นผลจากโรคที่มีความผิดปกติของไทรอยด์ฮอร์โมน ทำให้อารมณ์รุนแรงแปรปรวน ถูกกระตุ้นได้ง่าย

     โรคทางจิตเวชและการใช้สารเสพติด: โรคสมาธิสั้น ผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต เช่นหูแว่ว หลงผิด อาจตอบสนองต่อเหตุการณ์ในทางที่รุนแรง การใช้สุราทำให้ขาดความยับยั้งชั่งใจ การใช้ยาบ้า เฮโรอีน กัญชา กระตุ้นร่างกายให้รู้สึกมีพลัง ก้าวร้าว
                                                   
                                                                        

     วิธีดับไฟโกรธ

     รู้ตัวให้ทันว่าเริ่มมีอารมณ์โกรธ: ฝึกสังเกตจาก ใจที่ร้อน หงุดหงิด กล้ามเนื้อที่เริ่มตึงตัวมากขึ้น คิ้วขมวด กำหมัดแน่น หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว

     มีสติ ผ่อนคลาย: เมื่อเริ่มรู้ตัว ว่ากำลังโกรธ บอกกับตัวเองว่า “ความโกรธเหมือนเพลิงเผาใจ ดับไฟก่อนที่ไฟจะไหม้บ้านหมด” อาจขอเวลานอก หนีออกจากสถานการณ์นั้นก่อน สูดลมหายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ ถ้ายังไม่ดีขึ้น นับหนึ่งถึงสิบ สังเกตการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ อาจใช้วิธีเพ่งความสนใจไปที่มือ กำมือ-แบมือ (บีบ-คลาย) ช้าๆ

      สำรวจความคิด : กลับมาสำรวจต้นตอของความโกรธ เขาไม่ทำตามคำสั่งฉัน กล้าท้าทายฉัน กล้าลองดีกับฉัน ไม่เห็นความสำคัญของฉัน ไม่ยุติธรรมเลย ทำแบบนี้กับฉันไม่ได้ ส่วนใหญ่มักเกิดจาก “ฉัน“ หรือการยึด(อัตตา)ตัวเองมากเกินไป การลดขนาดตัวอัตตาให้เล็กลงเข้าใจสถานการณ์ ที่มากระตุ้นมากขึ้น ด้วยใจที่เป็นกลาง จะช่วยลดความรู้สึกโกรธลงได้

     พิจารณาประโยชน์และโทษ: ความโกรธที่เกิดขึ้นมีประโยชน์กับเราอย่างไร ถ้าไม่มีจะเก็บมันไว้ทำไม ไร้สาระ ตัดความคิดที่ทำให้โกรธออกไปบ้าง ตอบคำถามตัวเองให้ได้ว่า เรื่องนี้สำคัญหรือไม่   เหมาะสมที่จะโกรธไหม  สถานการณ์นี้แก้ไขได้หรือไม่  คุ้มหรือไม่ที่จะโกรธ

      ให้อภัย: คนเราทำผิดพลาดกันได้ ไม่มีใครอยากทำผิดถ้าเลือกได้ คงมีเหตุผลที่เขาทำแบบนั้น ให้อภัยกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น นอกจากช่วยลดผลกระทบจากการกระทำที่อาจส่งผลรุนแรงแล้ว ยังลดผลกระทบในใจเราเองด้วย

      หาทางเลือกที่ดีที่สุด: ค้นหาว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร พิจารณาถึงผลลัพธ์ที่ต้องการ หาทางออก/ทางแก้ปัญหาไว้หลายๆทาง ชั่งน้ำหนักข้อดี ข้อเสีย พิจารณาผลลัพธ์ที่ตามมาจากการกระทำในแต่ละทางเลือกนั้นๆ

 
“แต่ที่จริงปัญหา คือ เวลาโกรธเรามักไม่รู้ตัว สิ่งแรกที่ควรฝึกคือ การฝึกรู้สึกตัวเมื่อมีความโกรธเกิดขึ้น เพื่อรู้เท่าทันความคิด การกระทำที่ตามมา”                                         

“ไฟ ไหม้บ้าน ต้องรีบดับไฟ ยังไม่เกิดต้องซ้อมดับไฟ เหมือน ความโกรธเกิดขึ้นต้องรีบดับความโกรธ เมื่อยังไม่เกิดต้องคอยซ้อมมีสติรู้เท่าทันความโกรธ”
 
ขอขอบคุณ http://drpreaw.blogspot.com/
Visitors: 309,559