พฤติกรรมการลอกเลียนแบบของคนไทย
พฤติกรรมการลอกเลียนแบบ
เรื่องพฤติกรรมการลอกเลียนแบบ ดูเหมือนจะเป็นปัญหามากสำหรับผู้หลักผู้ใหญ่ที่รักความเป็นไทย และเห็นว่าการที่วัยรุ่นไทยส่วนใหญ่เลียนแบบพฤติกรรมหรือการแต่งกายของนักร้องต่างประเทศนั้นเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม ดังที่ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ชี้ปัญหาของเยาวชนจากการใช้สื่อออนไลน์ และเกิดพฤติกรรมการเลียนแบบในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ที่เรียกว่า ก๊อบปี้ แคท (copycat) ว่าวัยรุ่นมักเลียนแบบบุคคลที่ตัวเองสนใจหรือสิ่งที่ตัวเองชอบ
โดย พญ. อัมพร กล่าวว่าการเลียนแบบนั้นเป็นเรื่องปกติ แต่ทว่า “ต้องมีเงื่อนไข คือ ต้องเลียนแบบในสิ่งที่ถูกต้อง หากไม่ถูกต้อง ไม่สร้างสรรค์ จะกลายเป็นปัญหาสังคม และสะท้อนให้เห็นว่าวัยรุ่นคนดังกล่าวอาจมีปัญหาในเรื่องของการคิด ขาดประสบการณ์ชีวิตที่ดีพอ ขาดต้นแบบที่ดี สิ่งเหล่านี้ทำให้ไม่สามารถปรับตัวให้ เหมาะสม พอมีการชักจูงก็ทำให้หลงเชื่อง่าย แต่การเลียนแบบบางครั้งก็เกิดจากการสะสม เด็กมักดูสื่อทีวี หรืออินเตอร์เน็ตที่แฝงความรุนแรงตลอด ทำให้รู้สึกด้านชานั้นเอง” (หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555)
จะเห็นว่าปัญหาของการอธิบายดังกล่าวนั้นคือการที่เราจะสามารถแยกแยะได้อย่างไรว่านั่นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง หรือไม่ถูกต้อง เพราะกระแสสังคมและบรรทัดฐานต่างๆ นั้นเปลี่ยนแปลงไปตลอดตามกาลเวลาที่เคลื่อนผ่าน สิ่งที่อาจดูเลวร้ายในสายตาของผู้หลักผู้ใหญ่ในวันนี้ เมื่อผ่านไปอีกสักสองสามปี ก็อาจกลายเป็นเรื่องปกติตัวอย่างเช่นท่าเต้นส่ายสะโพกแบบของเอลวิส เพรสลีย์ ที่เมื่อก่อนถึงกับถูกแบนไม่ให้ออกอากาศทางโทรทัศน์ มาถึงสมัยนี้ก็กลายเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว เป็นต้น ก็แล้วคนรุ่นนั้น ที่เมื่อก่อนตอนเป็นวัยรุ่นก็คลั่งไคล้เอลวิสนั่นแหละ มาถึงปัจจุบันกลายเป็นผู้ใหญ่หัวหงอกกลับยึดติดอยู่กับค่านิยมเก่าๆ และต่อว่าต่อขานวัยรุ่นลูกหลานตัวเองว่าไม่รักความเป็นไทยไปเสียอย่างนั้น คำว่า copycat นั้น เริ่มปรากฏใช้ครั้งแรกในภาษาอังกฤษราวปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยคำว่า cat นั้นในภาษาอังกฤษสมัยนั้นสามารถแปลได้ว่า “คน” (อย่างเหยียดๆ) ได้ด้วย คำๆ นี้ไม่เกี่ยวอะไรกับแมว และหมายถึงคนที่ชอบเลียนแบบพฤติกรรมคนอื่น โดยมีความหมายไปในทางหยามหยันนั่นเอง
ซึ่งการหยามหยันดังกล่าวนี้จะเกิดขึ้นไม่ ได้เลย หากไม่มีแนวคิดที่ว่าด้วยการยกย่องความเป็นปัจเจกของแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นแนวคิดที่แพร่หลายในหมู่ศิลปินยุคโรแมนติคช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 แนวคิดนี้นำไปสู่การค้นหาอัตลักษณ์ส่วนบุคคล หรืออัตลักษณ์ของชาติตัวเอง และยึดโยงอยู่กับแนวคิดเรื่องชาตินิยมด้วย ทำให้เกิดการนำงานหัตถกรรมหรือเพลงพื้นบ้าน มาใส่ไว้เป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะ เกิดการสร้างภาพลักษณ์ของศิลปินว่ามีความเป็นปัจเจก ไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของใคร (รวมถึงเงินทอง) และเป็นอัจฉริยะ ในขณะที่งานศิลปะในยุคก่อนหน้า ไม่เคยมีแนวคิดแบบนี้ปรากฏมาก่อน ตัวอย่างเช่นงานของนักแต่งเพลงในสมัย Baroque หรือกระทั่ง Classic ก็จะมีลักษณะที่คล้ายๆ กัน มีการก๊อบปี้ทำนองกันและกันมาใช้งานเป็นเรื่องปกติอย่างไม่มีใครถือสาหาความอะไร โดยเฉพาะในเรื่องของแฟชั่นก็ยิ่งเห็นได้ชัด ว่าเกิดการลอกเลียนแบบกันทั่วไปตามสมัยนิยมอย่างกว้างขวาง จนในบางครั้งเป็นที่ยอมไม่ได้ของชนชั้นสูง ดังในสมัยหนึ่งที่อังกฤษถึงกับต้องตราเป็นกฏหมายว่าชนชั้นสูงเท่านั้นที่ สามารถใส่เสื้อผ้าเครื่องประดับราคาแพงบางชนิดได้ เพราะเป้าหมายหลักในการปกครองโดยชนชั้น สูง ย่อมเป็นการธำรงสถานะของตนไว้ให้สูงส่งเหนือผู้อื่น และทำการจัดแบ่งชั้นวรรณะของผู้คนในสังคมด้วยพฤติกรรมและการแต่งกายนั่นเอง
การแหกคอกไปลอกเลียนแบบสิ่งที่ไม่ใช่ “ไทย” ในสายตาผู้หลักผู้ใหญ่จำนวนหนึ่งจึงเป็นเรื่องรกหูรกตาอย่างเกินทน และจำเป็นต้องตักเตือนเยาวชนผู้หลงผิดให้หันกลับมาสู่ความเป็นไทยที่ถูกต้อง ทั้งๆ ที่ความเป็น “ไทย” ที่ว่านี่ก็ไม่มีใครรู้ได้ว่าคืออะไร เพราะแค่ดูชื่อและชื่อสกุลของแต่ละคนทุกวันนี้ก็งงเสียแล้วว่าส่วนมากนี่มัน ภาษาอินเดีย (บาลี-สันสกฤต) ต่างหาก ไม่ใช่ภาษาไทยที่ตรงไหนเลยโคลงฉันท์กาพย์กลอนเก่าแก่สมัยอยุธยา ก็ล้วนแล้วแต่เป็นการหยิบยืมคำอินเดียมาใช้แทรกใช้ปนตรงโน้นตรงนี้เต็มไปหมด ยิ่งคำฉันท์นี่เห็นชัดๆ เลยว่ามัน “เลียนแบบ” อินเดียมาทั้งนั้นลองดูตัวอย่างสักบาทหนึ่งก็ได้ แล้วค่อยนับดูว่ามีคำไทยกี่คำ “นบพรหมินทร์วชิรินทรวิศณุศิวา รวิศศิดารา จำรัส” (กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ พระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส)
ความเป็น “วัฒนธรรม” แท้จริงแล้วจึงหมายถึงการ “เลียนแบบ” นั่นเอง เพียงแต่ว่าใครจะเลียนแบบใคร แล้วการเลียนแบบนั้นให้ประโยชน์กับใครเท่านั้นแต่ถ้าความเป็นไทยแบบทางการยังคงผูกติด อยู่กับการเล่นหมากเก็บ โจงกระเบน และรำไทย แบบทุกวันนี้แล้วล่ะก็ ผมคิดว่าคงจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่วัยรุ่นส่วนมากจะหันไปเล่นเกมออนไลน์ ใส่เลกกิ้ง และเต้นแบบเกาหลีๆ กันทั่วเมือง
ขอขอบคุณ http://www.oknation.net/blog/insanetheater/2012/03/17/entry-1